หน้าเว็บ

ยินดีต้อนรับทุกท่านที่มาเยือน

โลกแห่งสันติภาพ

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บทความเรื่อง กระบวนการจัดการชั้นเรียน : ห้องเรียนแห่งความสุข

บทความเรื่อง กระบวนการจัดการชั้นเรียน : ห้องเรียนแห่งความสุข
The article about [ story ] , the procedure manages the classroom , : , classroom is happiness ,

เรียบเรียงโดย นางสาวศรีนวล มีเพ็งจันทร์ (ครูอ้อ)
Srinual.me@gmail.com

การจัดการชั้นเรียน มิได้หมายถึง เพียงแค่การที่ผู้บริหารหรือคุณครูได้ควบคุม แก้ไขหรือดัดพฤติกรรมของนักเรียนเท่านั้นแต่การจัดการชั้นเรียน เป็นกระบวนการจัดสภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขการจัดสภาพแวดล้อมจะต้องคำนึงถึงความสะอาด ความปลอดภัย ความอิสระอย่างมีขอบเขต สะดวกในการทำกิจกรรม การอำนวยความสะดวก ด้านสื่อ บรรยากาศในการเรียนรู้ มีมุมประสบการณ์ต่างๆ
การจัดบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนต้องเอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ สอดคล้องกับการพัฒนาการของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย เรียนรู้ด้วยความสนใจ สนุกสนาน โดยผู้บริหาร ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องเพิ่มความสำคัญสะอาดรวมถึงความปลอดภัยด้วย ให้ผู้เรียนมีความรู้สึกอบอุ่น มั่นใจ และมีความสุข หรือจัดมุมที่จะใช้ ในการจัดกิจกรรมในการเคลื่อนไหวบ้าง ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการวางแผนและแก้ปัญหาด้วยตนเองหรือโดยกลุ่ม พร้อมทั้งเนื้อหาหลักสูตรที่ใช้สอนเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในห้องเรียน เนื้อหาจะต้องเป็นลำดับขั้นตอนที่ผู้เรียนทำในทีละขั้น โดยมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรให้ผู้เรียนผ่านระดับความสามารถของเขา และกิจกรรมการเรียนการสอน ครูจะต้องเตรียม เพื่อให้ผู้เรียนสนใจและใช้เวลาเรียนรู้ได้เต็มที่ โดยมีเวลาว่างระหว่างกิจกรรมมากจนผู้เรียนเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน เอาใจใส่ติดตามการทำงานของผู้เรียน เพื่อให้คำแนะนำ หรือชมเชยผู้ที่ทำได้ การปฏิบัติเพื่อปรับพฤติกรรมของผู้เรียนให้มีวินัยในห้องเรียน ต้องมีข้อตกลงกฎกติกาของห้อง จะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนเคารพและแสดงพฤติกรรม โดยข้อตกลงต้องทำร่วมกันระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียนได้ กฎกติกามีต้องไม่เกิน 3-4 ข้อ เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนเข้าใจ
การจัดการชั้นเรียนที่ดี ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีแนวคิดที่จะวิวัฒนาการด้านการศึกษาให้เหมาะสม สามารถบูรณาการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับชุมชน หรือท้องถิ่นได้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการนำไปสู่สังคมที่ดีและมีความสงบสุข พฤติกรรมของผู้เรียนจะเปลี่ยนแปลงได้ถ้าครูเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมการเรียนรู้ มีหลักการและเทคนิคการปรับพฤติกรรมในชั้นเรียนได้ การจัดกิจกรรมในการแก้ปัญหา สามารถทำได้ และเมื่อผู้เรียนมีการทำผิดกติกา ก็ควรมีวิธีการทบทวนใหม่ และต้องไม่ซ้ำเติมผู้ที่ผิดพลาด เพราะผู้เรียนในแต่ละวัยความแตกต่างทางความคิดย่อมมีเป็นธรรมดา ครูต้องหาสาเหตุให้ชัดเจน พร้อมทั้งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยนำเทคนิคบางประการที่ครูจะสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการจัดการพฤติกรรมของผู้เรียนแต่ละคนได้ และต้องมีความเป็นประชาธิปไตยด้วย
การจัดการในชั้นเรียนจึงนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของครูผู้ที่ทำหน้าที่ในการสอน ซึ่งต้องมีความสามารถในการการจัดการในชั้นเรียน โดยเข้าใจบทบาท มีความรับผิดชอบ ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ก็จะทำให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุข
การจัดการในชั้นเรียนที่ดีนั้น ต้องมีกระบวนการบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดบรรยากาศจัดการเรียนการสอน มีระบบการจัดทำข้อมูลสารสนเทศและเอกสารข้อมูล ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้น มีเทคนิคการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียนเอง การกำกับดูแลชั้นเรียนที่ดี ตลอดจนการปฏิบัติ ซึ่งสามารถใช้ในการปรับพฤติกรรมของผู้เรียน ได้ สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบที่สำคัญมาก
“ เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
“สอนให้คนเก่งไม่ยาก แต่สอนให้คนเก่งและเป็นคนดีนั้นยาก”

ความเชื่อและความรู้สึกที่ว่า ชั้นเรียนที่มีขนาดของจำนวนผู้เรียนน้อย จะทำให้คุณภาพของการศึกษาโดยรวมดีขึ้นนั้น อาจจะไม่แน่เสมอไป เนื่องจากมีรายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดีในห้องเรียนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ มิได้ขึ้นกับจำนวนผู้เรียนต่อครูในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว ในการศึกษาอื่นๆ ยังพบว่า ชั้นเรียนขนาดเล็กจะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับการศึกษาในระดับประถมต้นๆ รวมถึงเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) และเด็กปัญญาเลิศ นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่า ชั้นเรียนขนาดเล็กจะมีผลต่อคุณภาพการศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านในระดับประถม ขณะที่ชั้นเรียนขนาดเล็กในระดับมัธยม จะมีผลกระทบทางบวกไม่มากนักต่อคุณภาพการศึกษาในการเรียนวิชาต่างๆส่วนใหญ่ ยกเว้นวิชาที่ต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะมากกว่าเนื้อหา อาทิเช่น อุตสาหกรรมศิลป์ วิจิตรศิลป์ ดนตรี และการเขียน เป็นต้น
ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยนั้นพบว่า การจัดชั้นเรียนขนาดเล็กจะมีประโยชน์สำหรับการเรียนที่มีจุดประสงค์ในการฝึกคิด การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนเพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติในบางเรื่อง แต่หากมีจุดประสงค์เพื่อเน้นเนื้อหาสาระความรู้ การจัดชั้นเรียนขนาดเล็กก็จะไม่มีผลต่อคุณภาพของการเรียนรู้เท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ข้อดีของชั้นเรียนขนาดใหญ่ในการศึกษาระดับนี้คือ นักศึกษาจะรู้สึกกดดันน้อยกว่า และสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุชื่อเสียงเรียงนามของตนเอง ทำให้นักศึกษารู้สึกเป็นอิสระในการเรียนมากกว่า นอกจากนี้แล้ว ชั้นเรียนขนาดใหญ่ยังจะช่วยส่งเสริมแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตนเองต่อไปด้วย
เนื่องจากชั้นเรียนมีความสำคัญ เปรียบเสมือนบ้านที่สองของผู้เรียน อิทธิพลของชั้นเรียนจึงมีมากพอที่จะปลูกฝังลักษณะของผู้เรียนให้เป็นแบบที่ต้องการได้ เช่น ให้เป็นตัวของตัวเอง ให้สามารถทำงานเป็นหมู่คณะได้ดี ให้ชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ให้มีความรับผิดชอบ ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ดังนั้นเพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะนิสัยดังประสงค์ และมีความรู้สึกอบอุ่นสบายใจในการอยู่ในชั้นเรียนครูจึงควรคำนึงถึงกระบวนการจัดการชั้นเรียนที่ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
ถ้าครูแสดงความเป็นมิตร นักเรียนจะอบอุ่นใจ
ถ้าครูยิ้มแย้ม นักเรียนจะแจ่มใส
ถ้าครูมีอารมณ์ขัน นักเรียนจะเรียนสนุก
ถ้าครูกระตือรือร้น นักเรียนจะกระปรี้กระเปร่า
ถ้าครูมีนำเสียงนุ่มนวล นักเรียนจะสุภาพอ่อนน้อม
ถ้าครูแต่งตัวเรียบร้อย นักเรียนจะเคารพ
ถ้าครูให้ความเมตตาปรานี นักเรียนจะมีจิตใจอ่อนโยน
ถ้าครูให้ความยุติธรรม นักเรียนจะศรัทธา
และขาดไม่ได้เลยคือบรรยากาศแบบประชาธิปไตย ผู้เรียนและครูจะยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รู้จักทำงานร่วมกัน รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง มีเหตุมีผล ผู้เรียนจะรู้สึกสบายใจในการเรียน เป็นกระบวนการจัดชั้นเรียนทีประสบความสำเร็จและเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี จะเห็นได้ว่า ครูที่ มีลักษณะความเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย ก็จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย ทำให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะเรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่าประเภทอื่น ๆ บุคลิกภาพของครูจึงมีส่วนสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างมาก
ครูปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์ สอนโดยไม่คำถึงผลประโยชนที่จะได้รับ และสร้างความรักความศรัทธามอบให้ศิษย์ สิ่งเหล่านี้คือความเจริญงอกงามของความเป็น “ครู”

เอกสารอ้างอิง

มินตรา เกษศิลป์. การบริหารจัดการชั้นเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 2
,14,ภาพนิ่ง 14
<www.thailocaladmin.go.th/work/e_book/eb6/eb6.../3km9.pdf> <http://www.phayao1.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538683293&Ntype=3>

1 ความคิดเห็น: