หน้าเว็บ

ยินดีต้อนรับทุกท่านที่มาเยือน

โลกแห่งสันติภาพ

วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

1. การจัดการความรู้
การที่เราจะได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้องและแท้จริงนั้น ต้องมีกระบวนการที่สำคัญ 7 ขั้น
ดังนี้
1. การบ่งชี้ความรู้ (Knowledge identification) เราจะต้องทราบว่าเราต้องมีความรู้
เรื่องอะไร เรามีความรู้เรื่องนั้นหรือยัง ซึ่งในที่นี้เราเป็นครู เราจำต้องทราบว่าตัวเรามีความรู้ในเนื้อหาสาระที่เราจะสอนแล้วหรือยัง และที่สำคัญเลยคือ เรามีความรู้ในมาตรฐานวิชาชีพครูครบทั้ง 9 ข้อแล้วหรือยัง
2. การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition) เป็น
การสร้างความรู้ใหม่ แสวงหาความรู้จากภายนอก รักษาความรู้เก่า และกำจัดความรู้ที่ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งเมื่อเราทราบแล้วว่าเรามีความรู้ด้านใดและไม่มีความรู้ในด้านใด ในด้านความรู้ที่มีอยู่แล้ว เราก็ต้องรักษาความรู้นั้นไว้และต้องแสวงหาความรู้ในด้านที่เรายังไม่รู้ โดยอาจจะหาความรู้จากการอ่านหนังสือ ถามผู้รู้ เสาะหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต และที่สำคัญเลยคือ การเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับนักเรียนของเรา เพื่อเป็นการสร้างความใกล้ชิดและรู้เท่าทันปัจจุบันนั่นเอง
3. การจัดความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization ) เป็นการวางโครงสร้าง
ความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บความรู้อย่างเป็นระบบในอนาคต ในขั้นนี้เปรียบเสมือนการจัดเสื้อผ้าในตู้ให้สามารถ หาง่าย หายรู้ ดูงามตา ซึ่งถ้าเปรียบกับความรู้ในสาระวิชาต่าง ๆ นั้น ก็คือ การจัดกระบวนการคิดและจัดกระบวนการจดจำความรู้ในสมองของเรา โดยทุกความรู้ต้องมีความเชื่อมโยงกัน บูรณาการเข้ากันได้ในทุก ๆ สาระ
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and
Refinement) เมื่อเราได้ข้อมูลความรู้ (Data) ในด้านต่าง ๆ มา (Input) เราต้องนำความรู้ที่ได้ มากลั่นกรอง พินิจพิจารณาให้เข้าถึงความรู้นั้น ๆ แล้วประมวลให้ได้สารสนเทศในเรื่องนั้น ๆ (Information) ออกมา (Output)
5. การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access) ในปัจจุบันความรู้มีที่มาจากหลากหลาย
แหล่ง เพราะฉะนั้นเราต้องปรับปรุงความรู้ของเราให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งแหล่งความรู้ที่สามารถเข้าถึงและนำมาใช้งานได้ง่าย เช่น การฝึกอบรม หนังสือเวียน บอร์ด หรือ Web Board เป็นต้น
6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing ) จะต้องมีการแลกเปลี่ยน
ความรู้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ดังนี้
· Explicit knowledge แลกเปลี่ยนด้วยวิธีการ เช่น จากเอกสารฐานความรู้
เทคโนโลยีสารสนเทศ
· Tacit knowledge แลกเปลี่ยนด้วยวิธีการ เช่น ทีมข้ามสายงาน กิจกรรม
กลุ่มคุณภาพและนวัตกรรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ระบบพี่เลี้ยง การสับเปลี่ยนงาน การยืมตัว เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นต้น

7. การเรียนรู้ (Learning) การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในองค์การจะทำให้
เกิดองค์ความรู้และสมาชิกในองค์การ สามารถนำความรู้จากองค์ความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์และเป็นการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนางานตลอดจนประสบการณ์ใหม่ ๆ และนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในองค์การได้ เช่น เราสามารถเรียนรู้ความรู้ต่าง ๆ ได้จากเพื่อนครูที่อยู่ภายในโรงเรียนเดียวกันกับเราหรืออาจจะเป็นเพื่อนครูที่อยู่ต่างโรงเรียนกันก็ได้ และนอกจากเพื่อนครูด้วยกันแล้ว เราก็ยังสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันกับนักเรียนก็ได้ โดยต้องไม่ยึดถือว่าตัวเราแน่ ตัวเรามีความรู้มากกว่านักเรียน แต่ต้องทำตัวเองว่าเราไม่รู้บ้าง เพื่อจะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับนักเรียน ที่สำคัญยังเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้นักเรียนได้ใกล้ชิดกับเรามากขึ้น ซึ่งเมื่อมีเรื่องอะไร นักเรียนก็จะกล้าที่จะบอกเราและยังเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนกล้าแสดงออกทางความคิดอีกด้วย

2. มีความรู้ในมาตรฐานวิชาชีพครูทั้ง 9 ข้อ
หลังจากที่เราได้แสวงหาความรู้อย่างสมบูรณ์ดีแล้ว ทำให้เรามีความรู้ในมาตรฐาน
วิชาชีพครูทั้ง 9 ข้อ ดังนี้
§ ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู เพื่อให้เราสามารถใช้ทักษะในการฟัง การพูด การอ่าน การเขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เพื่อการสื่อความหมายได้อย่างถูกต้อง และสามารถใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์นั้น การที่จะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้นั้น ต้องเริ่มจากการฟังที่ถูกต้องและชัดเจน โดยเราจะต้องพูดและเขียน (ส่งสาร) ให้นักเรียนเข้าใจตรงกันกับสิ่งที่เราอธิบาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอดจนศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์ด้วย อีกทั้งเราก็ต้องฟังและอ่าน(รับสาร) จากนักเรียนที่เขาสื่อสารมาให้เรารู้ด้วย นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น ทำให้เราต้องเชี่ยวชาญการใช้สื่อทางคอมพิวเตอร์ด้วย แต่หากใช้ไม่ชำนาญเราควรถามและเรียนรู้จากนักเรียนก็ได้
§ การพัฒนาหลักสูตร
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษา ปรัชญาและแนวคิดทฤษฎีการศึกษา ประวัติความเป็นมาและระบบการจัดการศึกษาไทย วิสัยทัศน์และแผนพัฒนาการศึกษาไทย ทฤษฎีและการพัฒนาหลักสูตร มาตรฐานและมาตรฐานช่วงชั้นของหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์หลักสูตร ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรได้อย่างหลากหลาย ประเมินหลักสูตรได้ ทั้งก่อนและหลังการใช้หลักสูตร และสามารถจัดทำหลักสูตรได้ ในข้อนี้เราต้องนำความรู้ที่เรามีมาจัดการกับหลักสูตร โดยต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย และที่สำคัญเลยก็คือ เราต้องพัฒนาหลักสูตรให้มีความเหมาะสมกับนักเรียน โดยจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นหลัก
§ การจัดการเรียนรู้
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษา ทฤษฎีการเรียนรู้และการสอน รูปแบบการเรียนรู้และการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การออกแบบและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ การบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้และบูรณาการการเรียนรู้แบบเรียนรวม เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้ การใช้และการผลิตสื่อและการพัฒนานวัตกรรมในการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้แบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และการประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้เราสามารถนำประมวลรายวิชามาจัดทำแผนการเรียนรู้รายภาคและตลอดภาค สามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน สามารถเลือกใช้ พัฒนาและสร้างสื่ออุปกรณ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน และสามารถจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนและจำแนกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการประเมินผลได้ เช่น สอนเรื่อง พืชใบเลี้ยงเดี่ยวใบเลี้ยงคู่ ถ้าเราสอน 2 ห้อง โดยห้องหนึ่งเป็นห้องที่ชอบการทดลอง เราต้องจัดให้นักเรียนเรียนรู้จากการได้สังเกตใบพืชจริง ๆ โดยอาจจัดแว่นขยายให้นักเรียนได้ส่องดูกันจริง ๆ แต่สำหรับอีกห้องหนึ่งที่ชอบเล่นเกมหรือการร้องเพลง เราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยต้องเปลี่ยนมาให้นักเรียนเล่นเกมแทน เช่น เกมคำศัพท์หรือคำสำคัญเกี่ยวกับใบเลี้ยงเดี่ยวใบเลี้ยงคู่ หรืออาจมีการร้องเพลงที่เกี่ยวกับใบเลี้ยงเดี่ยวใบเลี้ยงคู่เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและจดจำได้ดียิ่งขึ้นก็ได้
§ จิตวิทยาสำหรับครู
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษาจิตวิทยาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการมนุษย์ จิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาการแนะแนวและให้คำปรึกษา เพื่อให้เราสามารถเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน ช่วยเหลือผู้เรียนให้เรียนรู้และพัฒนาได้ตามศักยภาพของตน ให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้เรียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถส่งเสริมความถนัดและความสนใจของผู้เรียนได้ โดยการจัดการเรียนการสอนนั้น ครูต้องมีจิตวิทยา เช่น ต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียน ยกตัวอย่างเช่น จะให้นักเรียนท่องชื่อ คลาสและไฟลัมต่าง ๆ ของพืช เราต้องพูดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียน โดยอาจพูดทำนองว่า “มันจะทันสมัย (in Trend) มากถ้าหากนักเรียนสามารถท่องชื่อเหล่านี้ได้ เพราะถ้านักเรียนจดจำได้ นักเรียนก็จะเข้าใจวิชานี้อย่างลึกซึ้ง” และต้องมีการเสริมแรงหากนักเรียนสามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้ เช่น การกล่าวคำชมเชย หรือแม้แต่การให้รางวัลก็ตาม ซึ่งทั้งหมดถือได้ว่าเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง
§ การวัดและประเมินผลการศึกษา
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษาหลักการและเทคนิคการวัดและประเมินผลทางการศึกษา การสร้างและการใช้เครื่องมือวัดผลและประเมินผลการศึกษา การประเมินตามสภาพจริง การประเมินจากแฟ้มสะสมงาน การประเมินภาคปฏิบัติ และการประเมินผลแบบย่อยและแบบรวม เพื่อให้เราสามารถวัดและประเมินผลได้ตามสภาพความเป็นจริง ตลอดจนสามารถนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และหลักสูตรได้ โดยในข้อนี้จะเชื่อมโยงไปในข้อ 2 การพัฒนาหลักสูตรด้วย เพราะหากเรามีแนวในการวัดผลและประเมินผลที่ถูกต้องและเหมาะสมตามสภาพจริงแล้วนั้น เราย่อมที่จะสามารถเข้าใจในตัวนักเรียนคนนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการวัดและประเมินผลในวิชาวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้มีแค่เพียงการสอบข้อเขียนเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียน การจัดให้นักเรียนได้ทำการทดลองว่าเข้าใจและทดลองถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนการประเมินตามสภาพจริงในนักเรียนแต่ละคนด้วย
§ การบริหารจัดการในห้องเรียน
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษาทฤษฎีและหลักการบริหารจัดการ ภาวะผู้นำทางการศึกษา การคิดอย่างเป็นระบบ การเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร มนุษยสัมพันธ์ในองค์กร การติดต่อสื่อสารในองค์กร การบริหารจัดการชั้นเรียน การประกันคุณภาพการศึกษา การทำงานเป็นทีม การจัดทำโครงงานทางวิชาการ การจัดโครงการฝึกอาชีพ การจัดโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนา การจัดระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ และการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการในชั้นเรียน สามารถสื่อสารได้อย่างมีคุณภาพ สามารถในการประสานประโยชน์ และสามารถนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการได้ ที่สำคัญคือต้องมีภาวะผู้นำ ซึ่งตรงนี้เราต้องร่วมมือกับเพื่อนครูซึ่งทำงานภายในสถานศึกษาเดียวกันกับเรา ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำหลักสูตร การจัดการชั้นเรียน หรือการบริหารจัดการในห้องเรียน ที่สำคัญเลยคือเราต้องติดต่อสื่อสารกับนักเรียนของเราให้เข้าใจร่วมกันทั้งสองฝ่ายในเรื่องต่าง ๆ
§ การวิจัยทางการศึกษา
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษาทฤษฎีการวิจัย รูปแบบการวิจัย การออกแบบการวิจัย กระบวนการวิจัย สถิติเพื่อการวิจัย การวิจัยในชั้นเรียน การฝึกปฏิบัติการวิจัย การนำเสนอผลงานวิจัย การค้นคว้าและศึกษางานวิจัยในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ การใช้กระบวนการวิจัยในการแก้ปัญหา และการเสนอโครงการเพื่อทำวิจัย เพื่อให้เราสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน สามารถทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียน สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์นั้น เรามักจะได้ยินนักเรียนพูดว่า “ยาก” ซึ่งในข้อนี้ครูทุกคนจะต้องทำวิจัยเป็น โดยจะต้องศึกษาว่าเหตุใดนักเรียนจึงมองว่าวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ยากหรือนักเรียนไม่เข้าใจในจุดไหนหัวข้อไหน ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจมาจาก การพูดหรือสื่อการสอนของครูไร้ประสิทธิภาพ นักเรียนไม่ตั้งใจเรียน หรือนักเรียนมีปัญหาด้านอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเราในฐานะที่เป็นครู เราต้องต้องทำวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้ได้
§ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ เทคโนโลยีและสารสนเทศ การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ แหล่งการเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ การออกแบบ การสร้าง การนำไปใช้ การประเมินและการปรับปรุงนวัตกรรม เพื่อให้เราสามารถเลือกใช้ ออกแบบ สร้างและปรับปรุงนวัตกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี สามารถแสวงหาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยในวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่เราสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันก็มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย เช่น อินเตอร์เน็ต บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ยกตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เรื่อง คลื่น ซึ่งหากเราพูดให้นักเรียนฟัง นักเรียนอาจนึกไม่ถึงว่ามันเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เราก็อาจเปิดเว็บไซด์ที่เกี่ยวกับคลื่นให้นักเรียนชมซึ่งเป็นภาพคลื่นเคลื่อนที่และเราอาจแจกบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้นักเรียนนำกลับไปศึกษาต่อเองที่บ้านด้วยก็ได้
§ ความเป็นครู
สำหรับในข้อนี้ เราต้องศึกษาความสำคัญของวิชาชีพครู บทบาท หน้าที่ ภาระงานของครู พัฒนาการของวิชาชีพครู คุณลักษณะของครูที่ดี การสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู การเสริมสร้างศักยภาพและสมรรถภาพความเป็นครู การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และการเป็นผู้นำทางวิชาการ เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู จรรยาบรรณของวิชาชีพครูและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้เรารัก เมตตา และปรารถนาดีต่อผู้เรียน อดทนและรับผิดชอบ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และเป็นผู้นำทางวิชาการ มีวิสัยทัศน์ ศรัทธาในวิชาชีพครูและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพครู ข้อนี้จัดได้ว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับครูทุกคน เพราะหากขาดข้อนี้ไป ทั้ง 8 ข้อที่พูดมาข้างต้นคงไม่เกิดขึ้น เพราะ “ความเป็นครู” คือหัวใจที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ครูมีครบทั้ง 9 ข้อมาตรฐานวิชาชีพครูนั่นเอง โดยความเป็นครูที่สำคัญที่สุด คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน ให้ความสำคัญแก่นักเรียนเป็นลำดับแรก เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนต้องเป็นบุคคลที่มี”คุณธรรม”นำจิตใจด้วย
ความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครูจะสมบูรณ์แบบไม่ได้หากขาดการฝึกปฏิบัติในสถานศึกษาจริงๆ ซึ่งตามหลักสูตรผลิตครูพันธุ์ใหม่นั้น ได้จัดให้เป็นหลักสูตร 5 ปี โดยในปีสุดท้ายเป็นปีที่ต้องออกไปฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนจริง ๆ ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งเป็นการนำทฤษฎีที่ได้เรียนรู้มาตลอด 4 ปีไปปฏิบัติจริง หรือจะเรียกได้ว่าเป็นการชิมลางก่อนจบไปประกอบอาชีพครูจริง ๆ ก็ได้ ซึ่งตรงนี้ถือได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมและตรวจสอบความรู้ในสาระวิชาวิทยาศาสตร์ และทดสอบความรู้ในมาตรฐานวิชาชีพครูไปในตัวอีกด้วย

3. นำความรู้ในมาตรฐานวิชาชีพครูทั้ง 9 ข้อไปใช้
เมื่อเรามีความรู้แล้ว มันจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยถ้าหากว่าเราไม่นำความรู้ที่เรามีไป
ใช้ ซึ่งนอกจากเราจะต้องนำความรู้ทางวิชาการไปใช้แล้ว เรายังต้องนำความรู้ในมาตรฐาน
วิชาชีพครูไปใช้ด้วย ซึ่งนอกจากจะได้นำไปใช้กับนักเรียนแล้ว เรายังต้องนำไปใช้กับฝ่ายต่างๆ ในสถานศึกษาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสถานศึกษาก็จะแบ่งกันออกเป็น 4 ฝ่ายด้วยกัน คือ ฝ่ายบุคลากร ฝ่ายบริหารทั่วไป ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายงบประมาณ โดยในแต่ละฝ่ายนั้นก็จะมีการนำความรู้ไปใช้ที่อาจต่างหรือเหมือนกันก็ได้ เช่น
Ø ฝ่ายบุคลากร เราอาจนำจิตวิทยา (ข้อที่ 4) มาใช้ในการติดต่อสื่อสาร
Ø ฝ่ายบริหารทั่วไป เราอาจนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา (ข้อที่
8) มาใช้ในด้านการบริหาร ตลอดจนการวิจัย การวัดและประเมินผลด้วย (ข้อ 5 และข้อ 7) เพื่อเป็นการตรวจสอบและติดตามผลว่าการบริหารได้ผลเป็นเช่นใด เหมาะสมกับนักเรียนหรือไม่
Ø ฝ่ายวิชาการ เราอาจนำการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ การบริหารจัดการใน
ห้องเรียน (ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6) มาใช้ในฝ่ายนี้ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและจัดการการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้นักเรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ตรงตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์
Ø ฝ่ายงบประมาณ เราอาจนำเทคโนโลยีการจัดการมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
หลักฐานด้านงบประมาณ ตลอดจนการบริหารจัดการมาใช้บริหารและจัดสรรปันส่วนงบประมาณที่มีให้เกิดผลต่อนักเรียนมากที่สุด (ข้อ 1 และข้อ 6) เพื่อให้สถานศึกษามีความสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่าย อีกทั้งยังต้องใช้ “ความเป็นครู” (ข้อ 9) หรืออาจเรียกว่า “จิตวิญาณในความเป็นครู” ก็ได้มาใช้ในด้านคุณธรรมและจริยธรรม โดยต้องไม่โกงกินเงินงบประมาณ ต้องไม่รับสินบนใด ๆ เป็นต้น
นอกจาก 4 ฝ่ายข้างต้นแล้ว เราต้องนำความรู้ในมาตรฐานทั้ง 9 ข้อไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนด้วย เพราะเป็นงานหลักของครู ซึ่งทั้ง 9 ข้อนั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น ในการสอนวิทยาศาสตร์ เราต้อง...
v พูดจา อ่านออกเสียง อธิบายให้นักเรียนเข้าใจด้วยภาษาที่ฟังง่ายและถูกต้องตรงตาม
อักขระวิธีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ตลอดจนใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานได้
v พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับนักเรียนโดยยึดนักเรียนเป็นสำคัญ
v จัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน สามารถเลือกใช้และสร้างสื่ออุปกรณ์
ที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนได้
v ใช้จิตวิทยาให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละคน เช่น นักเรียนคนนี้ให้แรงจูงใจเพียงอย่าง
เดียวก็สามารถตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์ได้ แต่อีกคนเราต้องใช้ทั้งแรงจูงใจและการเสริมแรง
v มีการวัดผลและประเมินผลในหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้การ
ทดลองในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการประเมินผลตามสภาพจริงด้วย
v บริหารจัดการในห้องเรียน โดยการนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการ
เรียนการสอนวิทยาศาสตร์ได้
v ทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นักเรียนไม่
เข้าใจการบรรยายของเรา เราก็อาจต้องให้นักเรียนสังเกตและทดลองด้วยตนเอง
v ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาให้เหมาะสมและมีความทันสมัยตามทันโลก
แห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้
v มีความเป็นครู มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา เป็นแบบอย่างที่ดีงาม และมี
คุณธรรมจริยธรรม


4. นักเรียนเก่ง ดี และมีความสุข
เมื่อเราได้นำความรู้ที่เรามีไปใช้อย่างสมบูรณ์แล้ว ย่อมส่งผลดีแก่นักเรียนให้มี
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่เราต้องการ ซึ่งคุณลักษณะที่พึงประสงค์นี้ ได้แก่
ü เก่ง = คำว่า “เก่ง” ในที่นี้หมายถึง มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการ เชี่ยวชาญทั้ง
ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง มีความสามารถทั้งศาสตร์และศิลป์ เก่งในด้านดนตรีและกีฬาด้วย หรืออาจเรียกอย่างง่ายว่า “เก่งทั้งเรียนและเล่น”
ü ดี = คำว่า “ดี” ในที่นี้หมายถึง มีคุณธรรมและจริยธรรมนำจิตใจ รู้หน้าที่ ประหยัด
อดทน ขยันและมีวินัย เสียสละ มีเหตุผล มีค่านิยมประชาธิปไตย มีเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุทิศตนเพื่อพัฒนาสังคม พัฒนาเพื่อนมนุษย์ ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้พบเห็น อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะ
ü มีความสุข = คำว่า “มีความสุข” ในที่นี้หมายถึง มีความสุขทางกาย ซึ่งก็คือ มีสุขภาพ
ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และต้องมีความสุขทางใจด้วย ซึ่งก็คือ ไม่มีความคิดอิจฉาริษยา ไม่โกรธ ไม่ลุ่มหลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่มีความโลภที่จะได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่มีความวิตกและกังวล สงบเสงี่ยม มีจิตใจที่บริสุทธิ์ คิดดีทำดี ร่าเริงแจ่มใส มีความรักความอบอุ่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะจบลงที่นักเรียน เก่ง ดี และมีความสุขไม่ได้ หากตัวเราซึ่ง
เป็นครูขาดตกบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งใน 9 มาตรฐานวิชาชีพครู หรือไม่นำความรู้ที่มีไปใช้ไปปฏิบัติ อีกทั้งยังขาดการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเราผู้ซึ่งจะออกไปประกอบวิชาชีพครูในอนาคต ควรเร่งหาความรู้และนำความรู้มาจัดการให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่เราจะนำความรู้ไปจัดการความรู้จริงให้แก่นักเรียนในอนาคต และที่สำคัญเลยเราต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้พบเห็นรวมทั้งนักเรียนของเราในอนาคตด้วย

Credit:
1. หนังสือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา (http://www.ksp.or.th/upload/278/files/434-2333.pdf)
3. http://registrar.nsru.ac.th/graduate/thesis_article/filelist_download1.asp?ArticleID=15&action=add
4. http://www.learners.in.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น